พะยูง
พะยูง ชื่อสามัญ Siamese Rosewood, Thailand Rosewood, Tracwood, Black Wood, Rose Wood
พะยูง ชื่อวิทยาศาสตร์ Dalbergia cochinchinensis Pierre จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)
สมุนไพรพะยูง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ประดู่เสน (ตราด), ขะยูง (อุบลราชธานี), ประดู่ตม (จันทบุรี), แดงจีน (ปราจีนบุรี), พะยูงไหม (สระบุรี), ประดู่ลาย (ชลบุรี), พยุง พะยูง (ทั่วไป), กระยง กระยูง (เขมร-สุรินทร์), หัวลีเมาะ (จีน) เป็นต้น
ลักษณะของต้นพะยูง
ต้นพะยูง จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผลัดใบช่วงสั้น ๆ มีลักษณะคล้ายกับต้นประดู่ โดยมีความสูงของต้นได้ถึง 25 เมตร เมื่อโตเต็มที่ลำต้นจะมีลักษณะเปลาตรง มีเรือนยอดเป็นรูปทรงกลมหรือรูปไข่ทึบ เปลือกต้นเรียบเป็นสีเทา และล่อนเป็นแผ่นบาง ๆ ส่วนเปลือกด้านในเป็นสีน้ำตาลแกมสีเหลือง เนื้อไม้เป็นสีแดงอมม่วงถึงแดงเลือดหมูแก่ เนื้อละเอียด มีความแข็งแรงทนทาน มีแก่นหอมร้อนและมีรสขมฝาดเล็กน้อย การขยายพันธุ์ที่นิยมทำกันก็คือ การนำเมล็ดมาเพาะให้เป็นต้นกล้า ซึ่งเป็นวิธีที่สะดวกและนิยมกันมาก สำหรับวิธีการขยายพันธุ์โดยวิธีอื่น ๆ ก็สามารถทำได้โดยการนำเหง้ามาปักชำ สามารถขึ้นได้ในดินทุกชนิด ทนแล้งได้ดี ต้นพะยูงเป็นพันธุ์ไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศเมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ในประเทศไทยพบขึ้นกระจัดกระจายทั่วไปตามป่าเบญจพรรณชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าราบ ป่าโปร่ง และขึ้นประปรายทั่วไปทางภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในพื้นที่ที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 100-300 เมตร
สรรพคุณของพะยูง
- ตำรับยาพื้นบ้านอีสานจะใช้เปลือกต้นหรือแก่นพะยูง นำมาผสมกับแก่นสนสามใบ แก่นขี้เหล็ก และแก่นแสมสาร ใช้ต้มกับน้ำดื่มเป็นยาแก้มะเร็ง (เปลือกต้น, แก่น)
- รากใช้กินเป็นยารักษาอาการไข้พิษเซื่องซึม (ราก)
- เปลือกนำมาต้มเอาแต่น้ำ ใช้เป็นยาอมรักษาโรคปากเปื่อย ปากแตกระแหง (เปลือก)
- ยางสดใช้เป็นยาทาปาก รักษาโรคปากเปื่อย (ยางสด)
- ยางสดใช้ทาแก้เท้าเปื่อย (ยางสด)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น